โอกาสและความท้าทายของธุรกิจในยุคดิจิทัล
คุณชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้น ได้มีการพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปีค.ศ.1900) เป็นต้นมา โดยในทศวรรษนี้ ได้มีการพัฒนาการที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้านอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตมาก ทั้งจากความสามารถของคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านขนาดความจุ หน่วยความจำ และความเร็วในการคิดคำนวณ อีกทั้งระบบเซ็นเซอร์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย ที่มีพัฒนาการก้าวหน้าไปอย่างมาก และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ผู้บริหารองค์กร สถาปนิก และวิศวกร จะต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ เปลี่ยนทัศนคติ และฝึกฝน ให้มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวอย่างรวดเร็วสอดรับกับการพัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Disruptive Technology) ที่ก้าวขึ้นมาเปลี่ยนแปลง วิธีการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้คนอย่างรวดเร็วและรุนแรงดังกล่าว
ถัดจากการใช้ Slide Rule และเครื่องคิดเลขแบบ Programmable Calculator มา เราจะพบว่า การวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมโดยใช้ Finite Element สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นมาก เมื่อการพัฒนาการของคอมพิวเตอร์ในระดับ Desktop ให้มีความสามารถใกล้เคียงกับ Micro และ Mainframe Computer ในยุคก่อนหน้านั้น และในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ เราใช้แบบจำลองต่างๆ ในการวิเคราะห์และคิดคำนวณกรณีทางเลือกทางวิศวกรรมต่างๆ เปรียบเทียบกันได้หลายกรณีได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เราสามารถหาคำตอบที่ดี (Solution) ได้อย่างรอบคอบ รัดกุม และประหยัด โดยเราไม่สามารถกลับไปคำนวณเป็นรายบรรทัดโดยใช้ VisiCalc หรือ Excel ได้อีกต่อไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เราขยันน้อยลง แต่เราทำงานละเอียดมากขึ้นกว่าสิบปีที่แล้วนับสิบเท่า โดยใช้ Notebook Computer ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า Mainframe Computer แล้ว
Quantum Computing และ Block Chain Technology จะเปลี่ยน Platform ในการเก็บและการใช้ข้อมูลขนาดมหึมา ในการคิดคำนวณวิเคราะห์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำมาก และมีความปลอดภัยของข้อมูลสูงมาก และเมื่อเราให้ AI มาเรียนรู้ข้อมูลขนาดมหึมานั้น เรียนรู้ฐานความรู้ (Knowledge Base) ที่มนุษย์สั่งสมมาเป็นเวลาหลายสิบปี และให้เรียนรู้กระบวนการในการคิดคำนวณต่างๆ แล้ว AI ก็จะช่วยในการวิเคราะห์และคิดคำนวณที่สลับซับซ้อนแทนเราได้อย่างรวดเร็วกว่าที่เราทำเองได้ไม่น้อยกว่า 50 เท่า (US National Science Foundation and Johns Hopkins University, Jan 2025) และหากให้ AI ศึกษาและใช้ข้อมูลที่เป็นตัวหนังสือและตัวเลข ในการวิเคราะห์กรณีศึกษาต่างๆ เขียนรายงาน วาดรูปนั้น คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ตัว AI ที่เป็น Artificial Super Intelligence (ASI – อ้างอิง CEO ของ Softbank) จะทำได้อย่างรวดเร็วมากกว่ามนุษย์ถึงกว่า 10,000 เท่าเลยทีเดียว โดยไม่มีวันหยุด ไม่ นอนหลับ และไม่เจ็บป่วย ยกเว้นไฟฟ้าดับ
ภาพจำลองการวิเคราะห์แรง ความร้อน และการบิดตัว ที่แบบจำลอง AI ชื่อ Dimon ใช้ในการวิเคราะห์ลัดขั้นตอนการคำนวณที่สลับซับซ้อนของวิศวกร Dimon นี้ สร้างขึ้นโดย AI ที่เรียนรู้จากการคำนวณทางวิศวกรรมหลายพันกรณี จนสามารถจับทิศทางได้ แล้ว AI ก็สร้างแบบจำลองวิธีวิเคราะห์ด้วยตนเองที่คิดได้อย่างรวดเร็วและได้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำ (Mingling Yin, Johns Hopkins University, 2024)
ผู้บริหารของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทั้งบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา บริษัทสถาปนิก และผู้รับเหมาก่อสร้าง คงจะตระหนักดีกว่า หากไม่พัฒนาองค์กรและบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถในการนำ AI มาใช้ประโยชน์ในการทำงาน ก็จะเป็นบริษัทที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน
ผู้บริหารจะต้องมีวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนและกำหนดยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี (Transforma-tion) จัดสรรทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงิน คน เวลา และเทคโนโลยี ทั้ง Hardware, Software, Model และ AI Model ให้เพียงพอที่จะสนับสนุนการพัฒนา โดยจัดตั้งหน่วยงานที่เป็นแกนหลัก รับผิดชอบการพัฒนาและใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยี และการเปลี่ยนถ่ายไปใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทันเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในการออกแบบ วิเคราะห์ คำนวณ การเขียนแบบ การเขียนรายงาน และการบริหารการก่อสร้าง เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายโดยรวมที่ลดลง มีความรวดเร็วในการทำงานมากยิ่งขึ้น โดยยังคงรักษาคุณภาพของงาน และความถูกต้องแม่นยำไว้อยู่เสมอ และต้องไม่ลืมที่จะเก็บฐานข้อมูล และองค์ความรู้ต่างๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังและ AI ได้เรียนรู้ และพัฒนาร่วมกัน อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย
องค์กร ต้องจัดฝึกอบรม และจัดทำ Workshop ถ่ายทอดประสบการณ์ให้พนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทักษะ (Re-skill and Up-skill) ให้ทันกับเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยสนับสนุนให้พนักงานนำเทคโนโลยีใหม่ และ AI มาใช้ในการทำงานในโครงการต่างๆ ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน และยกย่องผู้ที่พัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ ให้ได้รับการเลื่อนระดับชั้นความสามารถทางเทคโนโลยี (Technology Competency Level) ปรับเงินเดือนและค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม
ประเด็นสำคัญ ต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงความปลอดภัยของข้อมูล (Data) และองค์ความรู้ (Knowledge Base) จัดระดับการเข้าถึงข้อมูลให้เหมาะสมตามระดับความสำคัญ ป้องกันการรั่วไหล ข้อมูลและองค์ความรู้สำคัญให้เข้าถึงได้เฉพาะพนักงานระดับสูง และ ให้ AI เรียนรู้ผ่านการกลั่นกรองโดย RAG (Retrieval-Augmented Generation) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยการรั่วไหล มากยิ่งขึ้น และกำหนดนโยบายการใช้ AI ให้ชัดเจน โดยมีหน่วยงาน IT เป็นผู้วางกฎเกณฑ์ ตรวจสอบ และควบคุมอย่างเข้มงวด